งานห่มผ้าพระนอน ประจำปี 2562

    

 "สืบสานประเพณีบูชาห่มผ้าพระนอน 1,300 ปี" ณ วัดธรรมจักรเสมาราม (วัดพระนอน)  ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จัดขึ้นในวันที่ 22 - 23 มิถุนายน 2562

     จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา จัดประเพณีบูชาห่มผ้าพระนอน 1,300 ปี ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 โดยมี นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ประธานพิธีทำบุญตักบาตรบวงสรวงพระนอน 1,300 ปี และร่วมทอผ้าห่มบูชาพระนอน พร้อมด้วยประชาชนชาวอำเภอสูงเนิน ณ วัดธรรมจักรเสมาราม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

 

                                           cr.ภาพ FB สีสรรโคราช

                                ชมวิดีโอรำบวงสรวง คลิ๊ก click

     
วัดธรรมจักรเสมาราม
     เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2295 ตั้งอยู่บนเนินดินท่ามกลางที่ราบ ปัจจุบันบนเนินดินเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านคลองขวาง ส่วนพื้นที่ราบโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา ขนาดของเนินดินและชุมชนประมาณ กว้างประมาณ 550 เมตร (แนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) และ 350 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ตั้งอยู่ห่างจากคูเมืองเสมามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร ด้านทิศตะวันตกของเนินดินและของวัดมีคลองตูมไหลผ่าน คลองตูมนี้ไหลไปรวมกับห้วยไผ่ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของวัดประมาณ 300 เมตร (หรือ 400 เมตร ตามระยะทางคลอง) ซึ่งห้วยไผ่จะไหลไปรวมกับลำตะคองในที่สุด
ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง: 
218 เมตร
ทางน้ำ:    คลองตูม, ห้วยไผ่, ลำตะคอง
แม่น้ำมูล
                                    

ลักษณะทางธรณีสัณฐานของพื้นที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนน้ำพา หินกรวดแม่น้ำ ทรายแป้ง และดินเหนียว ในยุคควอเทอร์นารี ส่วนหินฐานเป็นหินทรายในกลุ่มหินโคราช

 

 

พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) เป็นพระนอนหินทรายที่มีขนาดใหญ่ที่พบในประเทศไทย  สร้างด้วยก้อนหินทรายแดงขนาดใหญ่หลายก้อนประกอบกันขึ้นตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีการสลักหินทรายให้เป็นรูปทรงพระนอน สภาพโดยรวมชำรุด ความยาวตลอดองค์พระนอนประมาณ 13.3 เมตร สูง 2.8 เมตร นอนตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

ส่วนพระพักตร์ประกอบด้วยด้วยหินทราย 4 แผ่นซ้อนกัน พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงสลักเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกค่อนข้างกว้าง มุมพระโอษฐ์ชี้ขึ้นแย้มพระสรวล พระศกขมวดเป็นก้นหอยสภาพแตกชำรุด ด้านหลังพระเศียรสลักโกลนไว้อย่างคร่าวๆ มีเฉพาะพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียร ส่วนพระศอเป็นหินกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร พระวรกายประกอบด้วยหินทรายขนาดใหญ่ยาวตลอดเป็นแผ่นเดียวกัน (ปัจจุบันมีการคลุมผ้าคลุมส่วนพระวรกาย) ส่วนพระนาภีลงมาถึงข้อพระบาทแตกหักชำรุดส่วนพระบาททั้งสองข้างชิดติดเสมอกัน มีสภาพดีเป็นรูปพระบาทและฝ่าพระบาทชัดเจน มีการก่อแท่นอิฐหนุนส่วนพระขนอง (หลัง) องค์พระ รูปแบบศิลปะของพระพุทธไสยาสน์นี้คงได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีปะปนกับศิลปะพื้นเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15

บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และคณะ (2553 : 206-209) กล่าวว่าคติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ของเมืองเสมานี้ เหมือนกับพระพุทธไสยาสน์เมืองโปโลนนารุวะ กล่าวคือ (1) หันพระเศียรไปทางทิศใต้ (2) สร้างพระพุทธไสยาสน์ภายในคันธกุฎีที่เป็นอาคารแคบๆ      

วิหารพระนอน (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) หรือคันธกุฎี จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าแต่เดิมนั้นมีอาคารประดิษฐานพระนอน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 26 เมตร ยาวตลอดองค์พระ ลักษณะฐานประกอบด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ ถัดขึ้นมาเป็นกระดานบัวคว่ำ ท้องไม้ และบัวหงาย โดยช่วงรอยต่อของส่วนต่างๆ จะก่ออิฐเป็นแนวหรือก้อนเป็นตัวเชื่อม ช่วงรอยต่อระหว่างบัวหงายถึงผนังอาคารของชุดฐานบัวนั้น ไม่มีหน้ากระดานบนเหมือนอย่างชุดฐานโบราณสถานแบบศิลปะเขมร จึงมีความสูงเพียง 80 เซนติเมตร ส่วนผนังที่ต่อขึ้นไป ปัจจุบันยังคงเหนือส่วนที่สูงที่สุดเพียง 50 เซนติเมตร และยังได้พบแนวการพังทลายลงมาของอิฐเป็นชั้นๆ โดยมีแนวหินทรายสลักเป็นรูปฉากมีลวดลายกลีบบัวอยู่ด้านนอกวางอยู่บนสุดของผนังอาคาร จึงสันนิษฐานได้ว่าแต่เดิมนั้นผนังอาคารโดยรอบคงไม่สูงเกินกว่า 1 เมตร

อาคารทั้งหมดอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ห้องประดิษฐานพระนอน ห้องประกอบพิธี และลานหรือทางเดินด้านหน้า (ด้านทิศเหนือ)

ห้องประดิษฐานพระนอน มีพื้นที่ทางเดินรอบองค์พระกว้างประมาณ 1 เมตรเศษ ส่วนตอนปลายพระบาทเป็นห้องขนาดเล็กๆ อีกห้องหนึ่ง ห้องเล็กดังกล่าวคงเป็นห้องประกอบพิธีบูชา อย่างไรก็ตามพบว่ามีแนวก่อสร้างลานด้านหน้าขยายออกมาเพิ่มเติม แนวลานด้านหน้านี้สร้างคร่อมกำแพงแก้ว และแนวเสมาหิน ซึ่งน่าจะสร้างเพิ่มภายหลังจากที่อาคารชำรุดมาก จนเกือบหาแนวกำแพงแก้วไม่พบแล้ว รอบวิหารมีเสมาล้อมรอบ 2 ชั้น และปรากฏฐานสิ่งก่อสร้างอิฐขนาดเล็ก 1 ฐานอยู่ทางด้านหน้าองค์พระ

ห้องประดิษฐานพระนอน มีขนาดห้องพอดีกับองค์พระ โดยเว้นช่องทางเดินได้รอบองค์พระ 1 เมตรเศษ

ห้องประกอบพิธี เป็นห้องขนาดเล็ก ตั้งอยู่เบื้องใต้พระบาทหรือทิศเหนือติดกับห้องประดิษฐานพระนอน มีบันไดทางขึ้นหลักอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ ต่อมาภายหลังได้ก่อบันไดทางขึ้นด้านข้างหรือทางทิศตะวันออกเพิ่มอีกด้านหนึ่ง พร้อมๆกับการก่อสร้างลานหรือทางเดินด้านหน้า (ด้านทิศเหนือ) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะเห็นแนวลานด้านหน้านี้สร้างคร่อมแนวเสมาหินและแนวกำแพงแก้วที่อยู่เดิมรวมทั้งได้นำเอาหิน อิฐ มาเรียงเป็นพื้นใหม่ด้วย ห้องเล็กดังกล่าวคงเป็นห้องที่ใช้ประกอบพิธีหรือบูชาพระพุทธรูป ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการก่อสร้างฐานอาคารเพิ่มเติมในสมัยหลัง

สำหรับการเตรียมดินเพื่อก่อสร้างฐานรากของอาคารนั้น ได้มีการขุดชั้นดินเพื่อบดอัดหินทรายแดงและหินปูนชั้นดินทรายเป็นฐานรากก่อน จากนั้นจึงก่ออิฐเป็นฐานเขียง แล้วนำเอาเศษอิฐมาบดอัดเป็นชั้นหนาประมาณ 10 เซนติเมตรทั่วบริเวณ เพื่อเสริมความมั่นคงของอาคาร รวมทั้งเพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นทางเดินโดยรอบอาคาร (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

ปัจจุบันพระนอนประดิษฐานอยู่ภายในอาคารโถงโล่งยาวคลุมตลอดองค์พระ หลังคามุงกระเบื้องลอน มีกระเบื้องบางแผ่นเป็นกระเบื้องโปร่งแสง ทำให้แสงส่องเข้ามาภายในวิหารได้ รวมทั้งยังติดตั้งระบบระบายอากาศบนหลังคาอีกด้วย ภายในมีทางเดินไม้เกือบรอบองค์พระ (ยกเว้นด้านทิศใต้หรือเหนือพระเศียร และเว้นช่องทางเดินในส่วนที่เป็นเสมาหินทราย) มีเครื่องสักการะและร้านเช่าวัตถุมงคลของทางวัดตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระภายในอาคาร อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 และสร้างเสร็จใน พ.ศ.2537

ธรรมจักรหินทรายหรือเสมาธรรมจักร พบอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระพุทธไสยาสน์ (จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร เป็นธรรมจักรแบบทึบ แกะสลักเป็นรูปสี่กงล้อ ตอนล่างของธรรมจักรมีลายสลักหน้ากาลหรือพนัสบดี ลักษณะทางศิลปกรรมเทียบได้กับธรรมจักรที่พบจากเมืองนครปฐม น่าจะสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์และเมืองเสมา (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

การขุดแต่งของกรมศิลปากรยังพบหลักฐานเพิ่มเติมคือกวางหมอบและเสาเสมาธรรมจักร อาจแสดงให้เห็นว่าแต่เดิมเสมาธรรมจักรชิ้นนี้คงตั้งอยู่บนหัวเสา มีกวางหมอบอยู่ด้านหน้า และวางอยู่ด้านหน้าพระนอน (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

ปัจจุบันเสมาธรรมจักรหินทรายนี้ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจกใน “อาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเสมาธรรมจักร” ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2539 นอกจากเสมาธรรมจักรแล้ว ภายในอาคารยังจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากในพื้นที่ (?) เช่น ชิ้นส่วนประติมากรรม ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เสาธรรมจักร (มีจารึก) ฐานประติมากรรม หินบด รวมทั้งเสมาธรรมจักรจำลอง เป็นต้น นอกจากนี้ที่ด้านหน้าอาคารยังมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทรายวางจัดแสดงอยู่อีกหลายชิ้น เช่น ธรณีประตู และลูกมะหวด

การใช้ประโยชน์: ศาสนสถาน
ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล: 
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
Visitors: 163,774
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา และ ขอบคุณทุกท่านที่เยี่ยมชมเวปไชต์ของเรา